ไล่ตุ๊กแกด้วยสมุนไพร-งูเขียวกินตับตุ๊กแกจริงหรือไม่?

      ส่วนใหญ่เราจะได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆว่า "งูเขียวกินตับตุ๊กแก" สันนิษฐานว่าคนเราเมื่อยินตุ๊กแกร้อง ว่า "ตับแก่ ๆ" จึงนำคำว่า "ตับ" มาเชื่อมโยงกับภาพที่เห็นข้างล่างนี้ ว่าตุ๊กแกร้องด้วยความทรมานเพราะตับของมันเริ่มแก่มาก งูเขียวจึงเลื้อยเข้าไปช่วยกินตับตุ๊กแก เป็นความเมตตาของงูเขียว ว่าอย่างนั้น ถ้าเข้าไปเพื่อกินตับตุ๊กแกจริง ระบบย่อยอาหารของตุ๊กแกคงถูกทะลุทะลวงจนไม่น่าจะมีชีวิตต่อไปได้

      ทั้งตุ๊กแก และงูเขียว ต่างเป็นสัตว์กินเนื้อ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะนิสัยของตุ๊กแกมีธรรมชาติดุร้าย ฟันคมมากและชอบกัด มีบางคนใช้ไม้ยาวๆติดบ่วงเชือก เพื่อรัดคอตุ๊กแกเอาไปทิ้งไกลๆบ้าน จะพบว่าตุ๊กแกมันสู้ แสดงอาการข่มขู่ด้วยการอ้าปากแดงกว้าง พร้อมจะกัดได้ทุกเวลา คนที่หวาดกลัวตุ๊กแกเป็นทุนเดิม เห็นอาการขู่ก็ถึงกับถอดใจไม่คิดจับตุ๊กแกไปทิ้ง

                                       ภาพที่เข้าใจกันว่า งูเข้าไปกินตับตุ๊กแก

 

 สมมุติฐานเรื่อง งูเขียวกินตับตุ๊กแก

      ข้อสมมุติฐานเรื่อง งูเขียวช่วยเข้าไปกินตับตุ๊กแกนั้น มีอยู่ 2 ข้อ

สมมุติฐาน ข้อที่ 1)  ฟังแล้วอาจไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ เท่าที่สังเกตและติดตามชีวิตสัตว์ พบว่างูคล้ายมีอำนาจพิเศษอะไรบางอย่าง คล้าย ๆกับมันสามารถสะกดเหยื่อได้ เช่น งูเหลือมเป็นสัตว์ที่ไม่ปราดเปรียว แต่เมื่อยามหิวโหย ความปรารถนาอาหารอันแรงกล้าทำให้เกิดจิตตานุภาพบางอย่าง สะกดให้เหยื่อ งงงวย ชั่วขณะ จึงเข้าไปรัดเหยื่อให้ขาดอากาศหายใจ ในชีวิตประจำวันก็มีให้เห็น เช่นคนเราที่แอบมองคนอื่นอย่างสนใจแน่วแน่ คนที่ถูกมองก็จะรู้สึกได้ถึงการถูกเฝ้ามอง เหลียวกลับมาดู ก็มีให้เห็นบ่อยๆ  เคยมีเรื่องจริงของคนที่เลี้ยงงูเหลือมไว้ในห้อง แล้วลืมให้อาหารงูเป็นเวลานานๆ ปรากฎว่าสุนัขในบ้านซึ่งไม่เคยเข้าไปในห้องเลี้ยงงูเหลือมเลย แต่คราวนี้สุนัขกลับวิ่งเข้าไป จนตกเป็นอาหารของงูเหลือมที่หิวโซ นี่ถ้าไม่ใช่เรื่องบังเอิญก็คงจะเป็นเรื่องจิตตานุภาพบางอย่างของงู

            สมมุติฐานข้อแรกนี้ อธิบายว่าเมื่องูเขียวและตุ๊กแกเผชิญหน้ากัน และเป็นกรณีที่งูเขียวมีขนาดตัวเล็กกว่าตุ๊กแกมาก ๆ  ตุ๊กแกอ้าปากกว้างเพื่อข่มขู่ แล้วตุ๊กแกก็ตกอยู่ในพะวัง งูเขียวจึงเลื้อยเข้าไปในปากตุ๊กแก ซึ่งในกระเพาะตุ๊กแกนั้นอาจมีเศษอาหารเช่นซากแมลง ซากลูกหนูตัวเล็กๆ งูเขียวจึงกินซากอาหารนั้นเป็นอาหาร

สมมุติฐาน ข้อที่ 2)  งูเขียว ตุ๊กแก มักจะอาศัยอยู่ใกล้ๆกัน เช่นตามฝ้าเพดานใต้หลังคาบ้าน โดยงูเขียวมักใช้สถานที่ใต้ฝ้าเพดานเป็นที่ผสมพันธุ์ ทั้งงูเขียวและตุ๊กแกเมื่อหิว ต่างฝ่ายต่างต้องการกินฝ่ายตรงข้ามเป็นอาหาร ถ้างูเขียวตัวเล็ก ตุ๊กแกก็จะพยายามจะกลืนกินงูเขียวเข้าไป แต่อนิจจา กระเพาะตุ๊กแกมันสั้น ไม่สามารถจะกลืนงูที่ลำตัวเล็กแต่ยาวเกินกระเพาะได้ จึง คายงูออกมา คนเห็นเข้าก็เข้าใจว่างูเขียวเข้าไปกินตับตุ๊กแกแล้วเลื้อยถอยกลับออกมา

      แต่ถ้าเป็นกรณีที่งูเขียวมีขนาดตัวใหญ่กว่าตุ๊กแก เมื่อเผชิญหน้ากันด้วยความหิวโหย งูเขียวก็จะเป็นฝ่ายกินตุ๊กแก ดังภาพข้างล่าง

             

      ภาพนี้เราคงไม่พูดว่าตุ๊กแกเข้าไปกินตับงูเขียวนะ แต่มันเป็นการกลืนกินตุ๊กแกเข้าไปเป็นอาหารทั้งตัวเลยทีเดียว งูจึงช่วยกำจัดตุ๊กแกในบ้านได้

      ตุ๊กแกเมื่อเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน ถ้าปล่อยไว้นานๆ ก็จะผสมพันธุ์วางไข่ แพร่ลูกหลานได้อีกมากมาย การกำจัดมันออกไปจากบ้านให้หมดก็จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากขึ้น อย่างไรก็ตามตุ๊กแกก็เป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ มันช่วยกำจัดแมลงภายในบ้าน ช่วยกินหนูที่มีขนาดเล็กๆภายในบ้านได้